วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปฏิบัติการปั้น เด็ก GEN Y

วันที่ 16 สิงหาคม 2552 03:00
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

Generation Y หรือ Gen Y เด็กรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 25 ปี จุดเด่นของเด็กรุ่นนี้ คือ ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดี

มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการทำงานที่มีความก้าวหน้า ชอบการแสดงความคิดเห็น และมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ อาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า คนรุ่นเก่าอาจไม่เข้าใจคนรุ่น Generation Y โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทัศนคติ พฤติกรรม และความทุ่มเทในการทำงาน

โดยอ้างข้อมูลจากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552 เรื่องการศึกษาพฤติกรรมของคน Gen Y ว่าเด็กกลุ่มนี้มักมีความทะเยอทะยาน มีความมุ่งมั่น และยินดีที่จะทำงานที่หนักขึ้น และมากขึ้น เพื่อความสำเร็จทั้งของตนเองและองค์กร แต่ในที่นี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรและลักษณะงานที่ทำนั้นตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการมากน้อยเพียงใด

ข้อดีสำหรับองค์กรที่ได้เด็กกลุ่มนี้มาร่วมงานก็คือ ความสามารถในการเรียนรู้ และทำงานได้ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในลักษณะการทำงานร่วมกับชาวต่างประเทศ ทั้งในประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศ ได้เป็นอย่างดี

แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่การจะสร้างและพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ออกสู่ตลาดแรงงานได้นั้น รศ.ดร.พสุ บอก ภารกิจหนักจะตกอยู่ที่มหาวิทยาลัยเป็นหลักในเรื่องของการปรับหลักสูตร วิธีการสอน รวมถึงบุคลิกของอาจารย์ผู้สอน ที่ต้องปรับตัวเข้าหาเด็กๆ กลุ่มนี้

ชัยวุฒิ รื่นเริง อาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 7-8 ปี ของการเป็นอาจารย์ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเด็ก Gen Y ซึ่งจากประสบการณ์ที่พบ ลักษณะเด่นของเด็กกลุ่มนี้อยู่ที่ความมีสมาธิสั้น ชอบลงมือทำมากกว่านั่งฟัง และสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน เพราะฉะนั้นขณะที่สอนจำต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เด็กพุ่งความสนใจมาที่ตัวอาจารย์ให้ได้

สื่อการสอน เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ ชัยวุฒิ นำมาใช้เพื่อให้บรรยากาศการเรียนการสอนดำเนินไปในทิศทางที่หวัง โดยมีการนำเสนอในรูปแบบ Power Point และ วีดิโอคลิป ในการดึงความสนใจของผู้เรียน

แม้กระทั่งการให้การบ้าน ชัยวุฒิ ยกตัวอย่าง วิชาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น แทนที่จะสอนให้ทำเว็บไซต์ธรรมดา ๆ เช่นที่ผ่านมา ก็ปรับเปลี่ยนให้เด็กทำ Blog หรือ Hi5 ในเทคนิคเชิงลึกแทน เพราะเด็กกลุ่มนี้มีบล็อกหรือเว็บไซต์ Social Networking อยู่แล้ว ซึ่งดูผิวเผิน อาจจะมองว่าเรียนที่นี่สนุก เพราะได้เล่น Hi5 แต่จริงๆ แล้วระหว่างการสอนจะมีการสอดแทรกการทำเว็บไซต์ในเชิงเทคนิคเข้าไปด้วย

"เราอาจนำตัวอย่าง ซึ่งเป็นการทำเว็บที่ยากมาให้เด็กดู แล้วท้าทายให้รู้สึกอยากทำให้ดีเท่ากับตัวอย่างหรือดีกว่า ในส่วนของการทำ Power Point ก็เช่นกัน ต้องนำเสนอให้น่าสนใจ เด็กกลุ่มนี้จะสนใจรูปภาพเยอะๆ ไม่ชอบที่มีตัวอักษรเป็นจำนวนมาก สำหรับการบ้านจะต้องเน้นโจทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม"

เขา มองว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กดื้อ ตรงกันข้ามเป็นคนที่สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน เพียงแต่ชอบลงมือปฏิบัติมากกว่านั่งฟังทฤษฎีหรือตำรา ดังนั้นเวลาสอนที่ต้องลงลึกเรื่องทฤษฎี ตัวเองในฐานะอาจารย์จะบอกตรงๆ เลยว่าขอเวลา 10 นาที เพื่อเข้าสู่เนื้อหาทางทฤษฎี แล้วให้ทุกคนตั้งใจฟัง ซึ่งจากที่ปรับการสอนในแนวทางใหม่นี้ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เรียน

นอกจากรูปแบบการเรียนที่ปรับเปลี่ยนแล้วยังต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้สอน กับผู้เรียนด้วย ชัยวุฒิ บอก แนวทางที่เริ่มทำแล้วคือ การเปิดช่องทางให้เด็กกลุ่ม GEN Y ได้โต้ตอบ แม้กระทั่งการส่งการบ้านที่สามารถทำส่งผ่านบล็อกได้ โดยที่อาจารย์จะมีหน้าที่เข้าไปคอมเมนท์ พร้อมกับสั่งแก้ไขงานผ่านบล็อกได้ทันที

ภายหลัง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เริ่มปรับรูปแบบการสอนแนวใหม่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากการสอบถามกับกลุ่มนักศึกษาก็พบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี เด็กๆ รู้สึกพอใจ และสนุกกับการเรียนมากขึ้น

เช่นเดียวกับ ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บอกว่า การแก้ปัญหาการเรียนการสอนของกลุ่ม Gen Y ต้องเน้นการลงมือปฏิบัติ (Hand on) เพราะบางครั้งหากให้เด็กนั่งฟังทฤษฎีแล้วนำไปคิดเอง อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อเกินไปสำหรับเด็กกลุ่มนี้

"ผมสอนทฤษฎี ให้สามารถจับต้องได้ เช่น ในวิชาการออกแบบจากเศษวัสดุ จะเลคเชอร์ก็ได้ว่าการออกแบบจากเศษวัสดุคืออะไร มีรูปแบบอย่างไรบ้าง แต่ผมไม่ทำ แต่จะเปลี่ยนเป็นให้เด็กทำการคัดแยกเศษวัสดุ แล้วนำมาพรีเซ้นท์หน้าห้องเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน กรณีของการออกแบบชิ้นงาน จะให้เด็กๆ ลงมือออกแบบชิ้นงานจากนั้นก็มาคอมเมนท์ แนวทางนี้จะทำให้เด็กตั้งใจฟัง และรับฟังข้อบกพร่องของชิ้นงานเพื่อนำไปปรับปรุง แล้วนำกลับมาพรีเซ้นท์หน้าห้องใหม่ วิธีนี้จะทำให้เด็กตั้งใจเรียนมากเป็นพิเศษ"

แม้ที่ผ่านมาจะได้ผล ดร.สิงห์ บอกว่า สิ่งที่ต้องทำคือ ปรับรูปแบบการเรียนสอนทุกปี เพื่อหาจุดด้อย แล้วนำไปแก้ไข ปีแล้วปีเล่าเพื่อให้เหมาะกับเด็ก Gen Y จริง ๆ ซึ่งจากประสบการณ์แล้วพบว่า หากจัดให้เรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วสอนให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ นอกจากจะไม่มีใครหลับในห้องเรียนแล้ว กรณีที่ผลงานนั้น ๆ ออกตีพิมพ์ หรือมีการจัดแสดงผลงาน เด็กจะรู้สึกตั้งใจเรียน และทุ่มเททำงานแบบถวายหัว

สำหรับ รศ.ดร.ชนงกรณ์ กุณฑลบุตร คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเสริมว่า หากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งมีการคัดกรองเด็กด้วยการสอบ ทำให้เด็กที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีความตั้งใจสูง ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมของเด็ก Gen Y

สำหรับการสอนที่ปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับพฤติกรรมเด็กรุ่นใหม่ มทร.ธัญบุรี เลือกใช้วิธีลดชั่วโมงของการเรียนแบบเลคเชอร์ 3 ชั่วโมงลง เพราะอาจสร้างความเบื่อหน่ายให้กับผู้เรียน โดยสิ่งที่ปรับให้มากขึ้นเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม ทั้งการนำเสนอหรือแสดงผลงานในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะดึงความสนใจของผู้เรียนแล้วยังจะเป็นการพัฒนาเด็กที่จบออกไปให้กลายเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ

จากห้องเรียน สู่ห้องปฏิบัติ จุดเปลี่ยนมหาวิทยาลัย ภารกิจท้าทายกับการปั้นเด็ก Gen Y ป้อนตลาดแรงงาน